วันเสาร์ หน้าร้อนที่แล้ว ในขณะที่นั่งพักหลังเสร็จจากงานบ้าน เหงื่อที่หน้าผากยังไม่ทันแห้งดี
ผมเหลือบไปเห็นกองหนังสือ จำนวนหนึ่ง ที่กองอยู่รวมกัน ไม่ไกลโต๊ะอาหารนัก
นิตยสาร แผ่นพับ ใบปลิว หนังสือพิมพ์ เป็นสิ่งพิมพ์ที่เราเคยหยิบขึ้นมาอ่านบ้าง ไม่เคยแม้แต่จะหยิบเลยก็มี บางชิ้นเป็นเอกสารจากงานแสดงสินค้าตอนไปเยี่ยมประเทศฝั่งยุโรป รวมทั้งกระดาษที่พับทบไปมาจากฝั่งตะวันออก ไม่เว้นแม้แต่หนังสือพิมพ์
สิ่งพิมพ์เหล่านี้เกิดขึ้นมาเพื่อนำเสนอคุณค่าที่แตกต่างกัน เพื่อเสนอคุณค่านั้นๆให้กับมนุษย์ผ่านระบบการมอง เห็น แปลความหมาย ตีความหมาย หรือไปถึงขั้นส่งต่อข้อมูล มากไปกว่านั้นอาจรวมไปถึงการส่งต่อทางด้านความคิด ก็ไม่เห็นจะแปลกนัก
แผ่นพับสีแดงใบหนึ่งที่ตีลังกาอยู่ในกองสิ่งพิมพ์ตรงหน้า แสงที่หน้าต่างส่งภาพอาคารลายเส้นสีขาวในสไตล์นีโอคลาสสิค เข้ามาในดวงตาผม (จริงๆแล้วที่หน้าแผ่นพับมีตัวอักษรภาษาอังกฤษ พร้อมตัวเลขอยู่ด้วยแต่ผมอ่านมันไม่ออก ณ เวลานั้น) ภาพนั้นพยายามรื้อค้นความทรงจำของผม, "พิพิธภัณฑ์ที่อังกฤษ" ผมพอจำได้, ก่อนที่จะพลิกมันกลับหัวเพื่ออ่านอักขระที่อยู่ตรงหน้าเพื่อแปลความหมายที่จะสื่อสารอีกที ผมยกมันเข้าใกล้จมูก ดมมัน พลางยิ้ม และขยับนิ้วโป้งที่ถือแผ่นพับนี้เพื่อรับความสากของกระดาษ, "ไม่เคลือบ เนื้อกระดาษฟู" ผมบีบมันเบาๆ เพื่อดูการตอบสนองของกระดาษ
ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาไม่เกิน 5 วินาที
ซึ่งนานพอที่จะเรียกความรู้จัก และความรู้สึกออกมาจากความทรงจำของผมได้
"เราน่าจะทำอะไรกับกองสิ่งพิมพ์นี้ได้บ้าง" ผมคิด
เพลง " Miss right" ของ Anderson Paak จากเครื่องคอมพิวเตอร์นำผมไปยังภาพหน้าปกอัลบั้ม Venice ที่มีสีแสบสัน และอัดแน่นไปด้วยองค์ประกอบจากการปะติด ไม่ว่าจะเป็นรูปคน รถยนต์ ขวดเครื่องดื่มที่วางอัดอยู่ในโครงสร้างสี่เหลี่ยม เกิดเป็นความรู้สึก"สนใจ" พลางหันไปที่กองสิ่งพิมพ์ตรงหน้า ผมหาข้อมูลศิลปินที่ทำหน้าปกนี้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ,"Dewey Saunders", ไม่เพียงแค่หน้าปกนี้ งานหลายๆชิ้นที่ผ่านมาของเขามันมีความน่าสนใจ การบิดเบือน ความผิดที่ผิดทาง ความสัมพันธ์ทางพื้นที่ เวลา และความหมาย.
ลองทำดู เดี๋ยวเราคงได้รู้จักกัน
ตัวอักษรภาษาอังกฤษ มี 26 ตัว
"ความเป็นอิสระ"คือตัวแปรของงานนี้ การจัดการองค์ประกอบผ่านสัญชาติญาณ (รวมต้นตออาจเกิดจากประสบการ์ณ หรือความเป็นไปได้ในการถูกแทรกด้วยอารมณ์ระหว่างทำ) ผ่านกรอบตัวอักษรภาษาอังกฤษ 1 ตัว ผ่านสิ่งพิมพ์ที่เห็นหรือหยิบได้ ณ ช่วงเวลานั้นๆ - พูดแบบไม่เท่ห์มากก็คือ "ทำตามใจ" แค่นั้น
"รู้จัก"
ไม่แปลกที่มันใช้เวลา ประมาณ 1 ปีนิดๆ เป็น 1 ปี ที่ได้รู้จักเครื่องมือตัด และอุปกรณ์ต่อกระดาษหลากหลายชนิดขึ้น มองเห็นองค์ประกอบของสิ่งพิมพ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน กระดาษที่แตกต่างกัน การเข้าเล่ม เทคนิคการพิมพ์แบบต่างๆ ที่สำคัญคือ มันทำให้เราใจกว้างขึ้น มองเห็นความเป็นไปได้ทางองค์ประกอบมากขึ้น และแน่นอน ไม่มีระบบ undo แบบในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทุกองค์ประกอบถูกตัด ฉีก คัดแยก เลือก ประกอบ ติด เกาะเกี่ยว ทับซ้อน กันด้วยมือ
ชุดงานสำเร็จ ใช้เวลาทั้ง 1 ปีกับอีก 1 เดือน ผมได้ชิ้นงาน ปะติดตัวอักษรภาษาอังกฤษ 26 ตัว (รวมขีดกลาง และเครื่องหมายคำถาม เป็น 28 ตัว) TYPO.COLLA-Z คือ ชื่อของผลงานชุดนี้
ผมเขยิบความเป็นไปได้ที่มีออกไปอีกนิด
เริ่มจากการไปพูดคุยขอความรู้การเข้ากรอบรูปจากร้านไกล้บ้าน วัสดุที่ใช้ทำกรอบรูปในตลาด หาข้อมูลกระบวนการสร้างงานศิลปะซ้ำ, การสร้างผลงานศิลปะจำกัดจำนวน (Limited Edition), ลิขสิทธิ์ภาพปะติดที่สามารถซื้อขายได้ สอบถามเรื่องงานพิมพ์ศิลปะเพื่อการเก็บรักษา หมึก กระดาษจากร้านพิมพ์เฉพาะทาง ทดลองพิมพ์จริง ตรวจสอบสี รวมทั้งดูข้อมูลการตั้งราคางาน ศึกษาช่องทางการขาย และนำชิ้นงานทดลองขายจริง
"สนุก!!"
จากวันนั้นถึงวันนี้ ผมได้(ทด)ลองตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น ลองปฏิบัติ ผมเล่าสิ่งที่ผมทำให้กับทีมนักออกแบบฟัง แบ่งปันข้อมูลที่ได้จากประสบการ์ณตรง หลายคนตื่นเต้น และสนใจถ้าผมจะนำเครื่องมือและสิ่งพิมพ์ที่มีมาสาธิตแลกเปลี่ยนกันในวันสุดสัปดาห์
บางครั้งผลลัพท์ก็อยู่ระหว่างทางที่เรากำลังลงมือทำ
และส่งต่อไปสู่ปลายทางที่แตกขยายออกไปได้ไม่สิ้นสุด
ผลลัพท์ที่นับค่าไม่ได้จากการ(ทด)ลอง
กิตติคุณ ภักดีแก้ว
Kittikoon Pakdeekaew
Comments