top of page
รูปภาพนักเขียนKittikoon Pakdeekaew

ออกแบบให้ "พอดี"

อัปเดตเมื่อ 21 ต.ค.


"หม้อกาแฟโลหะเหลี่ยมสไตล์อิตาเลี่ยน ส่งเสียงเดือดอยู่ภายใน การระเหยพากลิ่นลอยแตะที่ปลายจมูกและเรียกความรู้จักกลับมา ไอร้อนและคาเฟอีนบนปลายลิ้นกระตุ้นเตือนให้ร่างกายกระทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างตื่นตัวอีกครั้ง"


หลากหลายสัมผัสของกิจกรรมที่เกี่ยวกับกาแฟเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราโดยไม่ทันได้สังเกต ที่เลยเถิดไปกว่าการปลุกให้เราตื่น มันยังเป็นเป็นเครื่องบ่งชี้สถานะทางสังคม และรสนิยมของผู้บริโภคด้วย ดูเหมือนว่าพวกเราจะผูกติดกับกาแฟมากขึ้นเรื่อยๆ สัดส่วนการเติบโต 7.1% เทียบกับปีที่ผ่านมาของแบรนด์ร้านกาแฟในประเทศไทย (ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร, 2562) อาจเป็นตัวบ่งชี้ความชอบกาแฟที่เพิ่มมากขึ้นของคนไทยก็เป็นได้ 


กาแฟที่ปลูกในประเทศไทยร้อยละ 10 คือ กาแฟพันธ์ุอราบิกา และอีกร้อยละ 90 คือ กาแฟพันธ์ุโรบัสต้า(กรมส่งเสริมการส่งออก, 2562) ซึ่งปลูกมากทางภาคใต้ วันนี้เราได้โอกาสจาก CEA (Creative Economy Agency)ร่วมทำโปรเจ็คกับผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟโรบัสต้ารายย่อยจากทางภาคใต้ท่านหนึ่ง


“พี่ปลูกเอง เก็บเอง คั่วเอง บดเอง ขายเอง ทุกอย่างต้องปลอดภัย”  


วันนี้ได้พูดคุยกับ “พี่ตุ๊ก" คนรักกาแฟจากอำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง เริ่มปลูกกาแฟโรบัสต้าโดยได้แรงบันดาลใจมาจากความหอมของดอกกาแฟในวัยเด็ก สร้างเป็นวิสาหกิจชุมชนกาแฟรัษฎามุ่งเน้นความปลอดภัย ไร้สารพิษ ขายกาแฟ และแปรรูปกากกาแฟที่ใช้แล้วเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ สร้างเป็นรายได้ให้กับครอบครัว และชุมชนใกล้เคียง 


ผลผลิตจากกาแฟโรบัสต้าของพี่ตุ๊กมีทั้งแบบคั่ว (Roasted Whole beans) และคั่วบด (Grounded Coffee) นำส่งให้ร้านค้าในพื้นที่ คิดเป็นร้อยละ 55 ส่งมายังร้านค้าที่กรุงเทพฯ และสมุทรปราการอีก ร้อยละ 45 การคั่วกาแฟแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ เข้ม กลาง อ่อน ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าลูกค้าชอบรสชาติแบบไหน สำหรับคนในพื้นที่นิยมดื่มกาแฟระดับเข้ม "ต้องเข้มแบบกาแฟโกปี๊ คนที่นี่กินแบบนี้" พี่ตุ๊กกล่าวเพิ่มเติม


พี่ตุ๊กอยากให้เราช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้

“ปัญหาคือขาดเครื่องมือทันสมัยในการผลิต ทำให้ไม่เป็นที่เชื่อใจของลูกค้า”

วันนี้วัตถุประสงค์ของเราคือการช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ การปกป้องสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง และช่วยเรื่องภาษาในการสื่อสาร เหล่านี้น่าจะช่วยสนับสนุนให้เกิดความเชื่อใจในตัวสินค้าได้ เมื่อจดจำได้ ขายได้ มีกำไร จึงค่อยมาวางกลยุทธเรื่องความทันสมัยของเครื่องมือกันอีกที

เราพูดคุยถึงรายละเอียดการผลิต การตั้งราคา ต้นทุน กำไร และความคาดหวังในอนาคต ประเมิณความคุ้มค่าสำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งซักถามเรื่องราวความรัก ความผูกพันธ์ที่มีต่อสินค้าเพื่อหาคุณค่าทางอารมณ์ (Emotional Value) ที่อาจจะสามารถเล่าผ่านกาแฟของพี่ตุ๊กได้ 


ทางกายภาพที่พบคือถุงหน้าต่างใสโชว์เมล็ดกาแฟ เบื้องต้นเราประเมิณว่าอาจจะไม่เหมาะสมเพราะแสงแดดส่งผลโดยตรงกับรสชาติกาแฟ สำหรับเรื่องการสื่อสาร สติ๊กเกอร์ที่ใช้อยู่มีองค์ประกอบ และตัวอักษรที่มีลักษณะหลากหลาย ทำให้ถูกจดจำได้ยาก หลังเคาะเครื่องคิดเลข และคำนวณราคาการผลิตบรรจุภัณฑ์แบบต่างๆ รวมถึงรูปแบบการพิมพ์เมื่อเปรียบราคา นำเสนองานออกแบบเป็น 3 แบบ คือ พิมพ์สกรีนสีเดียวหน้าเดียวบนถุงกระดาษคราฟ, พิมพ์สติ๊กเกอร์ 4 สี ติดหน้า-หลัง และ พิมพ์ดิจิตอลอ๊อฟเซ็ท 4 สี ทั้งถุง โดยแบบสุดท้ายกำไรที่มีต่อชิ้นเท่ากันแต่จะต้องแบกรับจำนวนบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น 3 เดือน เนื่องจากโรงพิมพ์มีการกำหนดจำนวนผลิตขั้นต่ำ (Minimum Order Quantity)  

ขั้นตอนพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ courtesy of Round and Nine

พี่ตุ๊กชอบสีแดงเข้ม และสนใจจะผลิตด้วยการพิมพ์ออฟเซ็ท 4 สี ทั้งถุง เพิ่มเติมคืออยากให้มีดอกและใบกาแฟจากแบบที่ 2 (ตรงกลาง) เรารับคำแนะนำของพี่ตุ๊กมาพัฒนาต่อ

ในส่วนของงานกราฟิก ตราสัญลักษณ์ใช้ตัวอักษรเขียนตัวไทย”รัษฎา”แล้วสนับสนุนอักขระไทยด้วยภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารกับฐานลูกค้าคนไทย ในพื้นที่ที่มีอยู่ หยิบยกสีแดงเข้มที่ได้จากเมล็ดกาแฟมาใช้ ร่วมกับสีน้ำตาลเข้มเพื่อสื่อสารถึงกาแฟโรบัสต้าที่มีรสชาติเข้มข้น เพิ่มเติมภาพประกอบของใบ และดอกกาแฟที่เป็นจุดเริ่มต้นของความรักที่พี่ตุ๊กมีต่อกาแฟจนมาเป็นกาแฟรัษฎาทุกวันนี้ ด้านหลังบรรจุภัณฑ์เล่าเรื่องราวที่มาของกาแฟรัษฎา สำหรับสติ๊กเกอร์บอกระดับความเข้มของกาแฟจะผลิตแยก จะถูกติดไว้ด่านล่างของถุงเพื่อช่วยลดต้นทุนทางการผลิตบรรจุภัณฑ์


แบบบรรจุภัณฑ์ที่จะผลิตจริง Courtecy of Round and Nine

ความสนุกของงานนี้คือ เราไม่ได้ไปนำเสนองานออกแบบเพื่อการสื่อสารเรื่องราวเพียงอย่างเดียว แต่เราได้มีส่วนไปร่วม “ออกแบบ” ความเป็นไปได้ ที่ใส่ใจในต้นทุนการผลิตกับเจ้าของผลิตภัณฑ์โดยตรง อีกทั้งได้พูดคุยเรื่องราวชีวิตของเจ้าของ เรื่องราวความรัก ความประทับใจที่มีต่อกาแฟของพี่ตุ๊ก กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้นักออกแบบเข้าใจคุณค่าของสินค้า และบริการนั้นๆได้ดีมากยิ่งขึ้น นำมาซึ่งงานออกแบบที่สอดคล้องกับความต้องการของเจ้าของกิจการ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค

(เสียต้นทุน) ไม่มาก (ได้ผลลัพท์ที่ดี) ไม่น้อย  ออกแบบให้ “พอดี” 


. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .


กิตติคุณ ภักดีแก้ว

Kittikoon Pakdeekaew


ชมผลงานเพิ่มเติม ได้ที่

Σχόλια


bottom of page