“ความยุ่งเหยิงมักทำให้เรารู้สึกเครียด”
ในงานกราฟิกก็เช่นกัน ข้อมูลที่มีจำนวนมาก เช่น ตัวอักษร รูปภาพภาพ ไอคอน ฯลฯ ที่ขาดการจัดวางอย่างเป็นระเบียบ วางสะเปะสะปะ เราถึงรู้สึกสับสน แล้วก็ทำความเข้าใจในเนื้อหานั้นได้ยากกว่าเดิม
การออกแบบเลย์เอาท์เลยเป็นวิธีการหนึ่ง ที่เอามาใช้จัดการกับองค์ประกอบต่างๆ ในงานออกแบบ เช่น การจัดการวางตำแหน่งของข้อความหรือรูปภาพให้สามารถสื่อสารกับคนได้ดีมากขึ้น และเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการออกแบบที่ควรปลูกฝังให้ที่ยิ่งเรียนรู้เร็ว ก็เข้าใจเอาไปพัฒนา ผลงานการออกแบบได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
MV Layout song / ならべうた ถูกจัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอความสำคัญของ "เลย์เอาท์" ในการออกแบบ มีเป้าหมายในการปลูกฝังความเข้าใจในงานออกแบบให้กับเด็กๆ ของชาวญี่ปุ่น โดยเกิดจากการร่วมมือกันจาก 3 ผู้คิดค้น นั่นก็คือ Ritsuko Nomura นักออกแบบวิดีโอสาวชาวญี่ปุ่น ร่วมกับ Cornelius หรือ Keigo Oyamada นักดนตรีและโปรดิวเซอร์ชาวญี่ปุ่นที่เป็นคนออกแบบเพลงประกอบMVหลากหลายเพลง และยังได้ Minami Yamaguchi มาช่วยขับร้องทำให้เพลงนี้สนุกสนานมากยิ่งขึ้น
ภายในวิดีโอ จะมีวิธีการจัดการกับองค์ประกอบ เช่น ข้อความ รูปภาพ ที่ว่าง สี หลายแบบ
วันนี้จะขอยกตัวอย่าง 5 หัวข้อหลักๆ ที่น่าสนใจ เข้าใจได้ง่าย และสามารถเอาไปปรับใช้
ในงานออกแบบได้ค่ะ
1. ระยะห่างตัวอักษร (Tracking)
แค่เห็นตัวหนังสือเรียงกันแบบนี้ก็รู้สึกปวดหัวขึ้นมาแบบกระทันหันแล้วใช่มั้ยคะ?
แล้วถ้าเปลี่ยนเป็นการจัดระยะห่างตัวอักษรล่ะคะ รู้สึกว่าสบายตาขึ้นมาบ้างมั้ย?
การกำหนดช่องไฟระหว่างตัวอักษรแต่ละตัวจะทำให้คนอ่านอ่านตัวอักษรแต่ละตัวได้ง่าย สบายตา ทั้งนี้การกำหนดระยะห่างขึ้นอยู่กับตัวอักษร ขนาด และ รูปแบบการใช้งานด้วยค่ะ
2. ระยะห่างระหว่างบรรทัด (Leading)
ถ้าเราเห็นตัวหนังสือที่ถูกจัดเรียงมาติดๆกันแบบนี้เราคงจะแยกหัวข้อเรื่องแล้วก็ทำความเข้าใจเนื้อหาได้ยาก ถ้าลองจัดวางใหม่ เว้นให้เกิดช่องว่าง เปลี่ยนเป็นการจัดย่อหน้าแบบนี้ล่ะคะ รู้สึกว่าจะทำให้อ่านง่ายขึ้นมาบ้างมั้ย?
เพราะการกำหนดระยะห่างของบรรทัด จะช่วยแยกชุดข้อมูลที่มีทำให้คนอ่านสามารถทำความเข้าใจได้รวดเร็วมากขึ้น หลักสำคัญเวลาจัดวางคือ เมื่อเราวางตัวอักษรหรือคำลงในบรรทัดแล้ว วรรณยุกต์ สระ และความสูงของตัวอักษรบางตัว จะต้องไม่ซ้อนทับกัน
3. พื้นที่ว่าง (Spacing)
เวลาที่เราอยู่ในห้องที่มีคนอยู่รวมกันเยอะๆ เรามักจะรู้สึกว่าหายใจไม่ค่อยสะดวก การใส่ข้อมูลลงไปให้จนเต็มพื้นที่ก็มักจะทำให้ผลงานนั้นรู้สึกอึดอัด หาจุดเด่นได้ยาก ดังนั้นการเว้นให้ผลงานมีพื้นที่ว่าง เหมือนกับการช่วยทำให้ข้อมูลที่เราต้องการจะนำเสนอมองเห็นจุดเด่นได้อย่างรวดเร็ว อ่านสบายตา และยังเพิ่มความน่าสนใจให้กับงานได้อีกด้วยค่ะ
4.ขนาดและลำดับความสำคัญ (Size & Priority)
ถ้าเราต้องอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เร่งรีบการต้องอ่านทำความเข้าใจป้ายนี้แบบเร็วๆคงเป็นเรื่องยาก เพราะอะไรกันนะ? ทั้งๆที่สีของป้ายก็ชัดเจน
แต่พอทำการปรับองค์ประกอบของป้ายนี้ใหม่ เราก็จะเห็นได้เลยว่าสิ่งที่ตัวป้ายยังขาดคือการ “จัดลำดับความสำคัญ”
เมื่อทำการออกแบบจัดลำดับความสำคัญแล้ว ผู้อ่านก็จะสามารถทำความเข้าใจ จับใจความในประเด็นสำคัญของงานนั้นๆ ได้รวดเร็วมากขึ้น
โดยเนื้อหาที่เป็นแกนหลักของเรื่องควรจะมีขนาดที่ใหญ่ ส่วนองค์ประกอบที่สำคัญน้อยลงมาก็ควรจะมีขนาดที่เล็กลงตามลำดับค่ะ
5. สีและความเปรียบต่าง (Color & Contrast)
เอ๊ะ! ตกลงป้ายนี้ต้องการจะบอก หรือ เตือน ให้กับคนอ่านป้ายกันแน่?
ต่อให้มีภาพประกอบ ถ้าเราเป็นชาวต่างชาติที่มองรูปนี้ การทำความเข้าใจในสารที่นักออกแบบต้องการจะสื่อก็คงจะเป็นเรื่องยากอยู่ดี ถึงแม้จะมีภาพประกอบมาให้ก็ตาม
แต่เมื่อออกแบบใหม่ ใช้ตัวอักษรด้วยสีแดง ที่สื่อถึงการห้าม แล้วมีขนาดที่ใหญ่มองเห็นได้ชัดเจนจะทำให้เราเข้าใจว่าไม่ควรเข้าใกล้บริเวณนี้ แม้เราจะไม่ได้เข้าใจภาษานั้นๆเลยก็ตาม การเปรียบต่าง(Contrast) เลยเป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยเน้นข้อมูลที่ต้องการนำเสนอ โดยสามารถใช้การเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างไม่ว่าจะเป็นสี, ขนาด, รูปร่าง และความคมชัด
นอกจาก 5 หัวข้อ ที่เราได้พูดถึงไปยังมีตัวอย่างการจัดวางเลย์เอาท์ที่ Ritsuko Nomura
ได้พูดถึงใน MV อีกหลายรูปแบบทำให้เห็นว่าในการใช้ชีวิตของเรามักจะเกี่ยวข้องกับ
การออกแบบอยู่แทบจะตลอดเวลา
MV Layout song ทำให้เราได้กลับมามองเห็นถึงความสำคัญของการจัดเลย์เอาท์อีกครั้ง
งานออกแบบที่ไม่ลงตัว หรือการสื่อสารยังคลุมเคลือนั้นอาจจะเกิดจากสิ่งที่เรามองข้ามไป เช่น การเว้นช่องว่างในผลงาน การจัดระยะห่างของตัวอักษร เป็นต้น
เมื่อเรานำความรู้การออกแบบเลย์เอาท์มาแก้ไขงานออกแบบ ก็จะช่วยให้สารที่เราต้องการนำเสนอไปสู่คนอื่นทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คนอ่านรู้สึกสบายใจ สบายตา เข้าใจในสารที่ต้องการจะสื่อได้ชัดเจนขึ้นนั่นเองค่า
SOURCE https://vimeo.com/373297064fbclid=IwAR1omgNbhpoEI5cZPq3hfbgAz7Sy9vCpsLnVGrzzAcwoPK8MJd1MOJmRLmQ
Pangfun Chonticha Puthasim
Social media Graphic designer
コメント